เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [2. อภิสมยสังยุต] 10. ทุติยปัพพตสูตร

10. ทุติยปัพพตสูตร
ว่าด้วยภูเขา สูตรที่ 2

[83] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มี
พระภาค ...
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาหิมพานต์ที่ทลายกระจัดกระจายไป เหลือ
ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่ 7 ก้อน เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร คือ ขุนเขาหิมพานต์ที่ทลายกระจัดกระจายไปก็ดี ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์
ผักกาด 7 ก้อนที่เหลืออยู่ก็ดี อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมพานต์ที่ทลายกระจัดกระจายไปนี้แหละมี
มากกว่า ส่วนก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด 7 ก้อนที่เหลืออยู่มีจำนวนน้อย
เมื่อเทียบกันกับขุนเขาหิมพานต์ที่ทลายกระจัดกระจายไป ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์
ผักกาด 7 ก้อนที่เหลืออยู่มีจำนวนน้อย ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100 ไม่ถึงเศษหนึ่ง
ส่วน 1,000 ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100,000”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น ความทุกข์ที่หมดสิ้นไปของ
บุคคลผู้เป็นอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ผู้รู้แจ้งนี้แหละมีมากกว่า ส่วนความทุกข์
ที่เหลือมีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปซึ่งมีในก่อน ความทุกข์
ที่ได้รับมากมายใน 7 อัตภาพมีประมาณน้อย ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100 ไม่ถึง
เศษหนึ่งส่วน 1,000 ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100,000
การตรัสรู้ธรรมมีประโยชน์ยิ่งใหญ่อย่างนี้ การได้ธรรมจักษุมีประโยชน์ยิ่งใหญ่
อย่างนี้”

ทุติยปัพพตสูตรที่ 10 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [2. อภิสมยสังยุต] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

11. ตติยปัพพตสูตร
ว่าด้วยภูเขา สูตรที่ 3

[84] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค...
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษวางก้อนหินเท่าเมล็ดถั่วเขียว 7 ก้อน
ไว้บนขุนเขาสิเนรุ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ก้อนหินเท่าเมล็ด
ถั่วเขียว 7 ก้อนที่บุรุษวางไว้ก็ดี ขุนเขาสิเนรุก็ดี อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุนี้แหละมีมากกว่า ส่วนก้อนหินเท่าเมล็ด
ถั่วเขียว 7 ก้อนที่บุรุษวางไว้มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับขุนเขาสิเนรุ ก้อนหิน
เท่าเมล็ดถั่วเขียว 7 ก้อนที่บุรุษวางไว้ ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100 ไม่ถึงเศษหนึ่ง
ส่วน 1,000 ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100,000”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อเทียบกับการบรรลุ1 ของบุคคล
ผู้เป็นอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ การบรรลุคุณวิเศษของอัญเดียรถีย์ สมณพราหมณ์
และปริพาชกทั้งหลาย มีปริมาณน้อย ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100 ไม่ถึงเศษหนึ่ง
ส่วน 1,000 ไม่ถึงเศษหนึ่งส่วน 100,000
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ มีการบรรลุยิ่งใหญ่อย่างนี้ มีอภิญญายิ่งใหญ่อย่างนี้”

ตติยปัพพตสูตรที่ 11 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. นขสิขาสูตร 2. โปกขรณีสูตร
3. สัมเภชชอุทกสูตร 4. ทุติยสัมเภชชอุทกสูตร
5. ปฐวีสูตร 6. ทุติยปฐวีสูตร
7. สมุททสูตร 8. ทุติยสมุททสูตร
9. ปัพพตสูตร 10. ทุติยปัพพตสูตร
11. ตติยปัพพตสูตร

อภิสมยสังยุต จบบริบูรณ์